แนวทางการดำเนินโครงการ

           1.) เพื่อสนองพระราชดำริ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท โดยสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง และเกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งโค-กระบือถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งต่อการประกอบอาชีพการเกษตรของเกษตรกร

           2.) สนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมเน้นให้เกิดชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีส่วนในการกำกับดูแลกันเองในชุมชนนั้นๆ เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และเกิดความยั่งยืน

           3.) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้แรงงานจากโค-กระบือและการใช้ปุ๋ยคอก ซึ่งได้จากมูลโค-กระบือ

การขอรับบริการ

                  ให้เกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการกรอกแบบแสดงความจำนงโดยมีผู้รับรองในพื้นที่ประกอบด้วย ประธานองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน พร้อมแนบการรับรองรายได้ของกรมการพัฒนาชุมชน ยื่นต่อปศุสัตว์จังหวัด และให้ปศุสัตว์จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 3 ราย เพื่อตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติ และเสนอสำนักงานปศุสัตว์เขตพิจารณากลั่นกรอง และเสนอ ธคก. เพื่อพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

การให้บริการ มี 5 วิธี

1.) การให้ยืมเพื่อการผลิต

     การให้เกษตรกรผู้ยากจนยืมแม่โคหรือแม่กระบือของ ธคก. โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อลูกโคหรือลูกกระบือตัวแรก อายุครบ 18 เดือน ให้ส่งลูกโคหรือลูกกระบือนั้นคืน ธคก. ส่วนลูกโคหรือลูกกระบือตัวต่อไปเป็นของเกษตรกรและเมื่อยืมแม่โคหรือแม่กระบือครบ 5 ปี ให้ยกแม่โคหรือแม่กระบือดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรผู้ยืม แต่หากเกษตรกรผู้ยืม ยืมแม่โคหรือแม่กระบือไป 3 ปีแล้ว ไม่มีลูกโคหรือลูกกระบือตัวแรกคืน ธคก.จะนำแม่โคหรือแม่กระบือดังกล่าวคืน เพื่อไปให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่นยืมต่อไป (เว้นแต่จะตรวจพบว่าแม่โคหรือแม่กระบือมีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ ธคก.จะเปลี่ยนแม่โคหรือแม่กระบือให้)

2.) การให้เช่าซื้อ

     กรณีที่เกษตรกรต้องการเป็นเจ้าของโค-กระบือของ ธคก. จะพิจารณาให้เช่าซื้อโคหรือกระบือของ ธคก. โดยเกษตรกรจะต้องชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา ดังนี้

     - โคเนื้อหรือกระบือ ให้ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลา 3 ปี กำหนดการผ่อนชำระในปีที่ 1 ร้อยละ 40 ของราคาโค-กระบือ ปีที่ 2 ร้อยละ 30 ของราคาโค-กระบือ และราคาที่เหลือชำระให้เสร็จสิ้น ในปีที่ 3 โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

     - สำหรับแม่โค จะพิจารณาให้เช่าซื้อ โดยให้ชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี กำหนดผ่อนชำระเงินร้อยละ 20 ของราคาโคนมในแต่ละปีโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

3.) การให้ยืมพ่อพันธุ์โค-กระบือ

      ในหมู่บ้านที่มีแม่พันธุ์โค-กระบือ ของ ธคก. ไม่ต่ำกว่า 50 ตัว เพื่อให้บริการพ่อพันธุ์แก่แม่โค-กระบือ ของ ธคก. ภายในหมู่บ้านนั้นๆ

4.) การให้เช่าเพื่อใช้แรงงาน

      กรณีที่เกษตรกรไม่มีโค-กระบือ ไว้ใช้งานของตนเอง แต่ไม่ต้องการซื้อสามารถเช่าโค-กระบือ เพื่อใช้แรงงาน โดยเสียค่าเช่าโค-กระบือ ตัวละ 300 บาทต่อปี

5.) การให้บริการอื่นๆ

      ที่นอกเหนือจาก ข้อ 1-4 ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาจากปศุสัตว์จังหวัดและได้รับอนุมัติจาก ธคก. เพื่อให้บริการเป็นกรณีพิเศษเป็นกรณีไป

คุณสมบัติของเกษตรกร

ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ได้กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะรับบริการ ตามรายละเอียดดังนี้

     1. เป็นเกษตรกรมีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

     2. มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์

     3. มีความประพฤติดี และยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ

     4. ยังไม่เคยได้รับโคหรือกระบือจากโครงการอื่นๆมาก่อน

     5. มีความเหมาะสมและสามารถที่จะดูแลเลี้ยงดูโค-กระบือได้

     6. มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ จปฐ.1 (ฉบับที่เป็นปัจจุบัน) หรือได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหมู่บ้านหรือคณะกรรมการชุมชนนั้นๆ ว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ

     เกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำสัญญากับกรมปศุสัตว์ และจะต้องมีผู้ค้ำประกัน และสัญญาจะตกทอดแก่ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ทำสัญญาถึงแก่กรรม

การบริหารโครงการ ธคก

                   ธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการจำนวน 31 ราย มีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานและหัวหน้าฝ่ายโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นเลขานุการ โดยมีระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการดำเนินการโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ พ.ศ.2556 เป็นแนวทางปฏิบัติ